เภสัชวัตถุ ที่ใช้ทำยา เนื้อหา จาก ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป โดย กองการประกอบโรคศิลปะ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
เภสัชวัตถุ

เภสัชวัตถุ  คือ  วัตถุธาตุนานาชนิดที่นำมาใช้ประกอบเป็นยารักษาโรค

              ตามคัมภีร์แพทย์กล่าวไว้ว่า “สรรพวัตถุต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาในโลกนี้ล้วนเกิดขึ้นแต่ธาตุ ทั้ง ๔ ย่อมเป็นยารักษาโรคได้ทั้งสิ้น” ตามคำกล่าวก็อาจจะเป็นได้ แต่จะมีสรรพคุณและประโยชน์มากน้อยอย่างไรต้องสุดแล้วแต่ชนิดของวัตถุนั้นๆ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ให้ลึกซึ้งถึงรูปลักษณะ ส่วนที่ใช้ ชนิดของวัตถุธาตุอ่อนหรือแก่ เก่าหรือใหม่ สดหรือแห้ง มีคุณภาพดีหรือเลวอย่างไร เมื่อนำมาใช้แล้วจะมีสรรพคุณจริงตามตำราหรือไม่ การเอาใจใส่อย่างละเอียดและปราณีตอย่างนี้ ต้องมีอยู่ประจำตัวเภสัชกรเสมอ

              เภสัชวัตถุจำแนกออกได้เป็น ๓ ประเภท คือ

              ประเภทที่ ๑ พืชวัตถุ ได้แก่ พรรณไม้ต่างๆ จำแนกออกได้เป็น พืชจำพวกต้น, พืชจำพวกเถา-เครือ, พืชจำพวกหัว-เหง้า, พืชจำพวกผัก และพืชจำพวกหญ้า  ซึ่งจะต้องรู้จักส่วนต่างๆ ของพืชที่นำมาใช้เป็นยา เป็นต้นว่า ราก, หัว, ต้น, กะพี้, แก่น, เปลือก, ใบ, ดอก, เกสร, ผล, เมล็ด ว่ามีรูป, สี, กลิ่น, รส และมีชื่อเรียกอย่างไร

              ประเภทที่ ๒ สัตว์วัตถุ ได้แก่ ร่างกายและอวัยวะของสัตว์ทั้งหลาย จำแนกสัตว์ออกได้เป็น สัตว์บก, สัตว์น้ำ และสัตว์อากาศ  ซึ่งจะต้องรู้จักส่วนต่างๆ ที่นำมาใช้เป็นยา เป็นต้นว่า ขน, เขา, เขี้ยว, นอ, หนัง, กราม, กรด, น้ำดี, เล็บ, กระดูก ว่าเป็นของสัตว์อะไร มีรูป, สี, กลิ่น, รส และมีชื่อเรียกอย่างไร

              ประเภทที่ ๓ ธาตุวัตถุ ได้แก่ แร่ธาตุต่างๆ ที่เกิดขึ้นเอง หรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุ หรือสิ่งสังเคราะห์ขึ้น จำแนกธาตุออกได้เป็นธาตุที่สลายตัวได้ง่าย และธาตุที่สลายตัวได้ยาก ซึ่งจะต้องรู้จักแร่ธาตุนั้นๆ ว่ามีรูป, สี, กลิ่น, รส และมีชื่อเรียกอย่างไร

๑. หลักในการพิจารณาตัวยา ๕ ประการ

              ในการที่จะรู้จักเภสัชวัตถุนั้นๆ จำเป็นต้องรู้ให้ลึกซึ้งถึงรูปลักษณะพื้นฐานของวัตถุธาตุ ซึ่งมีหลักในการพิจารณาตัวยา ๕ ประการ คือ

              ๑.๑ รูป คือ การรู้รูปลักษณณะของตัวยานั้นว่ามีรูปร่างที่ปรากฎเป็นอย่างไร ถ้าเป็นพืชวัตถุก็ต้องรู้ว่าเป็นพืชจำพวกต้น จำพวกเถา จำพวกหัว จำพวกผักหรือหญ้าว่ามีส่วนต่างๆ เช่น ต้น ราก ใบ ดอก ผล มีรูปอย่างไร ถ้าเป็นสัตว์วัตถุก็ต้องรู้ว่าเป็นสัตว์จำพวก สัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์อากาศ ว่ามีอวัยวะต่างๆ เช่น ขน เขา นอ เขี้ยว กระดูกมีรูปเป็นอย่างไร ถ้าเป็นธาตุวัตถุ ก็ต้องรู้ว่าเป็นธาตุสลายตัวได้ง่าย ธาตุสลายตัวได้ยาก ว่ามีสถานะเป็นของแข็ง ของเหลว เป็นเกล็ด เป็นแผ่น หรือเป็นผง เป็นต้น เรียกว่า รู้จักรูปของตัวยา

              ๑.๒ สี คือ การรู้สีของตัวยานั้นว่ามีสีอะไร เช่น ใบไม้มีสีเขียว กระดูกสัตว์มีสีขาว แก่นฝางมีสีแดง ยาดำมีสีดำ จุนสีมีสีเขียว กำมะถันมีสีเหลือง เป็นต้น เรียกว่ารู้จักสีของตัวยา

              ๑.๓ กลิ่น คือ การรู้กลิ่นของตัวยานั้นว่ามีกลิ่นเป็นอย่างไร อย่างนี้กลิ่นหอมหรือกลิ่นเหม็น เช่น กฤษณา กำยาน อบเชย ดอกมะลิ ชะมดเช็ด อำพันทอง มีกลิ่นหอม ยาดำ กำมะถัน กระดูกสัตว์ มหาหิงคุ์ มีกลิ่นเหม็น เป็นต้น เรียกว่ารู้จักกลิ่นของตัวยา

              ๑.๔ รส คือ การรู้รสของตัวยานั้นว่ามีรสเป็นอย่างไร ให้รู้ว่าอย่างนี้รสจืด รสขม รสหวาน รสเปรี่ยว รสเมาเบื่อ รสเผ็ดร้อน รสมัน รสหอมเย็น รสเค็ม หรือฝาด เช่น พริกไทย มีรสร้อน มะนาว มีรสเปรี้ยว น้ำผึ้งมีรสหวาน เป็นต้น เรียกว่ารู้จักรสของตัวยา

              ๑.๕ ชื่อ คือ การรู้ชื่อของตัวยานั้นว่าเขาสมมติชื่อเรียกไว้อย่างไร เช่น สิ่งนั้นเรียกชื่อเป็นข่า กะทือ มะขาม วัว กวาง เสือ เกลือ กำมะถัน ศิลายอน เป็นต้น เรียกว่า รู้จักชื่อของตัวยา

              ในหลัก ๕ ประการดังกล่าวมานี้ จะเป็นข้อพิสูจน์ทำให้เรารู้ว่าเป็นตัว ยาอะไร ฉะนั้นการจะรู้จักตัวยาได้นั้น จึงต้องอาศัยหลัก ๕ ประการดังกล่าวนี้

 

๒. พืชวัตถุ

              ๒.๑ พืชจำพวกต้น ได้แก่ พืชพรรณไม้ เป็นต้นเล็ก ต้นใหญ่ เป็นกอ เป็นพุ่ม มีแก่นบ้าง ไม่มีแก่นบ้าง ซึ่งนิยมเรียกกันว่า ต้น ส่วนมากใช้ราก แก่น เปลือก ใบ ฝักหรือลูก จะอธิบายถึงรสและสรรพคุณของส่วนที่ใช้ทำยาดังต่อไปนี้:

  1. กรรณิกา(กันนิกา) ไม้พุ่มขนาดใหญ่ หรือ ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก
    1. ต้น รสขมเย็น สรรพคุณ แก้ปวดศรีษะ
    2. ใบ รสขม      สรรพคุณ บำรุงน้ำดี
    3. ดอก รสขมหวาน            สรรพคุณ แก้ไข้ แก้ลมวิงเวียน
    4. ราก รสขม      สรรพคุณ แก้ท้องผูก บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง บำรังเส้นผมให้ดกดำ บำรุงผิวหนังให้สดชื่น
  2. กฤษณา(ไม้หอม) ไม้ต้นขนาดย่อม ถึงขนาดกลาง
    1. เนื้อไม้ รสขมหวาน สรรพคุณ บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงตับ ปอด แก้ลมหน้ามืดวิงเวียน
  3. กันเกรา(ตำเสา) ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่
    1. แก่น รสเฝื่อนฝาดขม สรรพคุณ แก้ไข้จับสั่น บำรุงธาตุ แก้หืด ไอมองคร่อ ริดสีดวง ท้องมาน แน่นหน้าอก ท้องเดิน มูกเลือด แก้พิษฝีกาฬ บำรุงม้าม บำรุงโลหิต แก้ปวดแสบ ปวดร้อน เป็นยาอายุวัฒนะ
  4. กรัก (แก่นขนุนละมุด) ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่
    1. แก่น รสหวานชุ่มขม สรรพคุณ บำรุงกำลัง บำรุงโลหิต สมานแผล
    2. ใบ เผาให้เป็นถ่านผสมกับน้ำปูนใส หยอดหู แก้ปวดหู แก้เป็นหูน้ำหนวก
    3. ไส้ในลูก รสฝาดหอมหวาน สรรพคุณ แก้ตกเลือดทางทวารเบาของสตรี กินแล้วทำให้เลือดหยุด
  5. กัลปพฤกษ์ ไม้ยืนต้นขนาดกลาง ใบเล็กคล้ายขี้เหล็ก ดอกขาวคล้ายแคฝอย ฝักแบนยาวข้างในเป็นชั้นๆ สีเทา ภายนอกฝักเป็นกำมะหยี่
    1. เนื้อในฝัก รสขมเอียนติดหวานเล็กน้อย สรรพคุณ ระบายท้อง แก้อุจจาระ เป็นพรรดึก และระบายท้องเด็กได้ดี
  6. กัลปังหา(กาละปังหา) ไม้พุ่มขนาดย่อม เกิดใต้ทะเล ไม่มีใบและดอก
    1. เนื้อไม้และต้น รสฝาด สรรพคุณ สมานแผล แก้เนื้อหนังฉีกขาด แก้บาดแผลตามเนื้ออ่อน
  7. กระเชา ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่
    1. เปลือก รสเมา แก้โรคผิวหนัง แก้ปวดข้อ
  8. กระทิง ไม้ยืนต้นขนาดกลาง
    1. ใบ ขยำแช่น้ำสะอาดล้างตา สรรพคุร แก้ตาแดง ตาฝ้า ตามัว
    2. น้ำมันจากเมล็ด รสร้อน สรรพคุณ ทาถูนวด ปวดข้อ แก้เคล็ดขัดยอก บวม
    3. ดอก กลิ่นหอม รสเย็น สรรพคุณ บำรุงหัวใจ
  9. กระแบก ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่
    1. เปลือกต้น รสฝาด สรรพคุณ คุมธาตุ แก้ท้องร่วง สมานแผล
  10. กระเบียน(มะกอกพราน) ไม้พุ่มขนาดใหญ่
    1. ใบ รสฝาด สรรพคุณ ตำพอกบาดแผลสดหายเร็ว
  11. กระเบา (กระเบาน้ำ) ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่
    1. ผลสุก รับประทานเนื้อในได้ คล้ายเผือก
    2. น้ำมันจากเมล็ดใน รสเมาเบื่อ สรรพคุณ แก้โรคผิวหนังต่างๆ แก้โรคเรื้อน
  12. กะโบลิง ไม้ยืนต้นขนาดกลาง
    1. เปลือกต้น รสเมาเบื่อ สรรพคุณ เป็นยาบำรุงผม
    2. เปลือกต้นและผล รสเมาเบื่อ สรรพคุร ทาแก้ปวด ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ทากันทากกัด
  13. กะพังอาด (พญามือเหล็ก) ไม้ยืนต้นขนาดกลาง
    1. แก่นและเนื้อไม้ รสขมเมาเล็กน้อย สรรพคุณ ดับไข้จับสั่น ดับพาไข้ แก้กระษัย แก้โลหิต ลดความร้อน ฝนทาศรีษะ แก้รังแค
  14. กะเพราทั้ง ๒ (ขาว-แดง) ไม้ต้นเล็ก
    1. ใช้ทั้ง ๕ รสเผ็ดร้อน  สรรพคุร บำรุงธาตุ แก้ปวดท้อง ขับผายลม แก้ท้องอืดเฟ้อ
  15. กระแจะ ไม้ยืนต้นขนาดกลาง
    1. ผล รสมันสุขุม สรรพคุณ บำรุงร่างกาย
    2. เนื้อไม้ รสจืดเย็น สรรพคุณ บำรุงดวงจิต ขับผายลม แก้ไข้
  16. กระเจี๊ยบแดง ไม้ล้มลุกเนื้ออ่อน ขึ้นเป็นพุ่มเตี้ย
    1. ใบ รสเปรี้ยว สรรพคุร กัดเสลด ทำให้โลหิตไหลเวียนดี
    2. เมล็ดใน รสจืดเป็นเมือก สรรพคุณ แก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ
    3. ใช้ทั้ง ๕ สรรพคุร แก้พยากธิตัวจี๊ด
    4. ผล รสจืดเมาเล็กน้อย สรรพคุณ ขับเหงื่อ แก้ร้อนภายใน
  17. กระดังงาไทย ไม้ยืนต้นขนาดกลาง
    1. น้ำมันที่กลั่นออกจากดอก ใช้ปรุงเป็นเครื่องสำอาง
    2. ต้น กิ่ง ก้าน ใบ รสเฝื่อน สรรพคุณ ขับปัสสาวะ ปัสสาวะพิการ
    3. ดอก รสสุขุมกลิ่นหอม สรรพคุณ บำรุงโลหิต บำรุงธาตุ บำรุงหัวใจ
  18. กระโดงแดง ไม้ยืนต้นขนาดย่อม
    1. ใบรสขมเมา สรรพคุณ ระงับประสาท แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ทำให้นอนหลับ
  19. กระโดน ไม้ยืนต้นขนาดกลาง
    1. เปลือกต้น รสฝาดเมา สรรพคุณ แก้พิษงู สมานแผล แก้เคล็ด เมื่อย
    2. ดอก รสสุขุม สรรพคุณ บำรุงภายหลังคลอดบุตร
  20. กระโดนดิน ไม้ยืนต้นขนาดกลาง
    1. เปลือกต้น รสจืด สรรพคุณ ขับปัสสาวะ แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้ไตพิการ แก้เบาหวาน
  21. กระตังใบ (กระตังบาย) ไม้พุ่มขนาดย่อม
    1. ราก รสเมาเบื่อ สรรพคุณ แก้ไข้ ขับเหงื่อ แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  22. กระถินไซ่ง่อน ไม้ยืนต้นขนาดกลาง
    1. เปลือกต้น รสฝาด สรรพคุณ แก้ท้องร่วง แก้บิด แก้ธาตุพิการ คุมธาตุ สมานแผล
    2. ราก รสเมาเบื่อ สรรพคุณ แก้ไข้ ขับเหงื่อ แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  23. กระถินเทศ (กระถินดอกหอม) ไม้พุ่มขนาดใหญ่
    1. ราก รสเฝื่อน สรรพคุณ แก้พิษสัตว์กัดต่อย เป็นยาอายุวัฒนะ
  24. กระถินไทย(กระถินดอกขาว) ไม้พุ่มขนาดกลาง
    1. ราก รสจืดเฝื่อน สรรพคุณ ขับระดูขาว ขับผายลม เป็นยาอายุวัฒนะ
  25. กระถินป่า ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก
    1. เปลือก และ ราก รสฝาด สรรพคุณ แก้ท้องร่วง แก้อาเจียน แก้อดิสาร(ลงแดง) สมานแผล
  26. กระถินพิมาน(กระถินวิมาน) ไม้ยืนต้นขนาดกลาง
    1. ราก รสฝาดเฝื่อน สรรพคุณ แก้พิษสัตว์กัดต่อย
      เห็ดที่เกิดขึ้นจากไม้กระถินพิมาน รสเบื่อเมา แก้ปวดฝีในหู แก้เริม งูสวัด ผสมกับแก้ไข้พิษไข้กาฬ
  27. กระทุ่ม ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่
    1. ใบ รสขมเฝื่อนเมา สรรพคุณ แก้ท้องร่วง แก้ปวดมวนในท้อง
  28. กระท้อนป่า ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่
    1. ราก(สุม) รสฝาดเย็น สรรพคุณ ดับพาร้อน ถอนพิษไข้ แก้ไข้รากสาด แก้บิด ใช้ผสมยามหานิล มหากาฬ
  29. กระท่อม ไม้ยืนต้นขนาดกลาง
    1. ใบ รสขมเฝื่อนเมา สรรพคุณ แก้ปวดท้อง แก้บิด ปวดเบ่ง ท้องร่วงลงแดง แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ถ้ารับประทานทำให้เมา อาเจียน คอแห้ง
  30. กระบือเจ็ดตัว(กระทู้เจ็ดแบก) ไม้พุ่มขนาดเล็ก
    1. ใบ รสร้อน สรรพคุณ ขับน้ำคาวปลา แก้สันนิบาตหน้าเพลิง ขับเลือดหลังคลอดบุตร
  31. การบูรขาว-ดำ ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่
    1. เมล็ดใน รสฝาด สรรพคุร แก้บิด ท้องร่วง ปวดเบ่ง คุมธาตุ
    2. เปลือกต้น รสฝาด สรรพคุณ คุมธาตุ สมานแผล
  32. กระพี้เขาควาย ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่
    1. เนื้อไม้ รสจืดเย็น สรรพคุร แก้พาไข้กลับช้ำ ถอนพิษไข้ ถอนพิษผิดสำแดง แก้ร้อนใน
  33. กราย (หางกราย) ไม้ยืนต้นขนาดกลาง
    1. ลูก รสฝาด สรรพคุณ แก้บิด อุจจาระเป็นมูกเลือด ปวดเบ่ง เสมหะเป็นพิษ แก้ท้องเดิน
    2. เปลือกต้น รสฝาด สรรพคุณ กล่อมเสมหะและให้อุจจาระเป็นก้อน แก้อุจจาระเป็นฟอง
  34. กรวยป่า ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่
    1. ใบ รสเมา สรรพคุณ แก้พิษกาฬ แก้โรคผิวหนังผื่นคัน แก้ริดสีดวงจมูก
    2. ดอก รสเมาเย็น สรรพคุณ แก้พิษกาฬ พิษไข้
    3. เมล็ด รสเมาเย็น สรรพคุณ แก้ริดสีดวงทวาร
  35. กล้วยตีบ ไม้ล้มลุก
    1. ราก รสฝาดเย็น สรรพคุณ แก้ไข้ท้องเสีย (ใช้รากสาด) แก้ร้อนในกระหายน้ำ
    2. ใบ รสฝาด สรรพคุณ แก้ริดสีดวงจมูก แก้ผื่นคันตามผิวหนัง
  36. กวาวต้น ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่
    1. ดอก รสเย็น สรรพคุณ ถอนพิษไข้ ผสมยาหยอดตาแก้ตาฟาง ขับปัสสาวะ
    2. ยาง รสฝาด สรรพคุณ แก้ท้องร่วง
    3. ใบ รสเย็น สรรพคุณ ตำพอกถอนพิษฝีและสิว
    4. เมล็ด รสเมาเบื่อ สรรพคุณ ขัยพยาธิไส้เดือน
    5. ราก รสเมาร้อน สรรพคุณ แก้ท้องขึ้นอืดเฟ้อ ขับพยาธิ แก้ริดสีดวงทวาร
  37. การะเกด เป็นไม้พุ่มจำพวกเตย
    1. ดอก รสขมหอม สรรพคุณ แก้โรคเสมหะในอก บำรุงธาตุ ใช้ผสมยาหอม
  38. การบูร ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่
    1. ใบ เปลือกต้น เนื้อไม้ กลั่นเป็นการบูรเกล็ด ได้รสร้อน สรรพคุณ แก้ปวดท้อง จุกเสียด แก้ธาตุพิการ ขับลมในลำไส้ แก้ไอ
  39. กาหลง ไม้พุ่มขนาดย่อมถึงกลาง
  40. กาสามปีก(เกล็ดปลาช่อน) ไม้ยืนต้นขนาดกลาง และเป็นไม้พุ่มขนาดย่อมก็มี
    1. เปลือกราก รสจืดเฝื่อน สรรพคุณ แก้ปวด แก้เคล็ดบวม
    2. ใบ รสจืด สรรพคุณ แก้ไข้
  41. ก้างปลาแดง ไม้พุ่มขนาดกลาง
    1. ราก รสจืดเย็น สรรพคุณ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้ ขับพิษไข้หัว (หัด, สุกใส, ดำแดง) ลดความร้อน (แก้ตัวร้อน)
  42. ก้างปลาทะเล ไม้พุ่มขนาดย่อม และเกิดตามชายทะเล
    1. ใบ เนื้อไม้ รสกร่อยเค็ม สรรพคุณ แก้ไข้กำเดา รักษาตา
    2. เปลือกต้น รสฝาดเค็ม สรรพคุณ สมานแผล ห้ามเลือด
    3. ราก รสเย็นกร่อย สรรพคุณ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้ ถอนพิษผิดสำแดง ถอนพิษไข้กาฬ
  43. กานพลู ไม้ยืนต้นขนาดย่อม
    1. ดอก รสร้อน สรรพคุณ บำรุงธาตุ แก้ปวดท้อง แน่น จุกเสียด แก้รำมะนาด แก้ปวดฟัน แก้ปวดท้อง ท้องขึ้น แก้ท้องร่วง ชุบสำลีอุดฟันแก้ปวดฟัน ทุบ ๑ ดอก ใส่ขวดนมให้เด็ก รับประทานแก้ท้องขึ้น แก้ปวดท้อง และแก้ไอ
  44. ก้ามกุ้ง ก้ามกาม ไม้ยืนต้นขนาดกลาง
  45. ก้ามปู ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ก้านใบคล้ายก้ามปู หลังใบสีเขียวเข้ม
    1. เมล็ด รสเมา สรรพคุณ แก้กลาก เกลื้อน โรคเรื้อน
    2. เปลือกต้น รสฝาด สรรพคุณ แก้ปากเปื่อยเป็นแผล แก้เหงือกบวม แก้ปวดฟัน แก้ท้องร่วง แก้ริดสีดวงทวาร
  46. กุ่มน้ำ ไม้ยืนต้น ขนาดย่อมถึงขนาดกลาง
    1. ราก รสร้อน สรรพคุณ แก้ปวดท้อง บำรุงธาตุ
    2. เปลือกต้น รสร้อน สรรพคุณ ขับลมในลำไส้ ขับผายลม
  47. กุ่มบก ไม้ยืนต้นขนาดกลาง
    1. ใบ รสจืดเย็น สรรพคุร บำรุงหัวใจ
    2. เปลือกต้น รสร้อน สรรพคุณ ขับลมในลำไส้ แก้แน่นท้อง มักใช้ร่วมกับเปลือกต้นทองหลางใบมน
  48. แก้ว ไม้ยืนต้นขนาดย่อม
    1. ใบ รสร้อนเผ็ดขมสุขุม สรรพคุณ ขับโลหิตระดูสตรี บำรุงธาตุ แก้จุดเสียดแน่นในท้อง ขับผายลม
    2. รากแห้ง – สด รสเผ็ดขมสุขุม สรรพคุณ แก้ปวดสะเอว แก้ผื่นคันที่เกิดจากความชื้น แก้ฝีฝักบัวที่เต้านม แก้ฝีมดลูก แผลคัน พิษแมลงสัตว์กัดต่อย
  49. โกงกาง (มีทั้งชนิดใบใหญ่และใบเล็ก) ไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงกลาง มีรากค้ำจุนลำต้น ใบขับเกลือออกได้
    1. เปลือกต้น รสฝาดเค็ม สรรพคุร ห้ามโลหิต สมานแผล แก้ท้องร่วง แก้บิด แก้อติสาร
  50. โกฐกะกลิ้ง (แสลงใจ, ลูกกะจี้ ว่านไฟต้น) ไม้ยืนต้นขนาดกลาง
    1. เมล็ด (มีส่วนผสมของสตริ๊คนิน) รสขมเมา สรรพคุณ แก้ลมอัมพาต อิดโรย บำรุงธาตุ บำรุงหัวใจ เจริญอาหาร ขับน้ำย่อย กระตุ้นประสาทส่วนกลาง ถ้ารับประทานมากเป็นพิษทำให้กล้ามเนื้อกระตุกชัก ขากรรไกรแข็ง
    2. ใบ รสเมาเบื่อ สรรพคุณ ตำพอกแก้แผลเน่าเปื่อยเรื้อรัง
error: Content is protected !!